• put your amazing slogan here!

    ตอนที่ 3 Delta Works – ประตูกั้นปากแม่น้ำแห่งภาคใต้


    Delta Works – ประตูกั้นปากแม่น้ำแห่งภาคใต้

    พื้นที่ทางใต้ของเนเธอร์แลนด์ต่างออกไปจากภาคเหนือ เพราะเป็นปากแม่น้ำที่มีแม่น้ำสายย่อยๆ จำนวนมาก แนวทางการแก้ปัญหาน้ำท่วมของภาคใต้จึงเป็นการสร้างเขื่อน ประตูน้ำ กำแพงกั้นคลื่นหลายแห่ง เพื่อป้องกันป้องกันคลื่นน้ำทะเลหนุนสูงจากภาวะ storm tide ซึ่งจะต่างไปจากโครงการ Zuiderzee Works ตรงที่เป็นการสร้างเขื่อนขนาดเล็กๆ แต่จำนวนมากแทน
    โครงการนี้มีชื่อว่า Delta Works เริ่มก่อสร้างทีหลังโครงการ Zuiderzee Works ทางภาคเหนือ เนื่องจากความล่าช้าในการตัดสินใจ และผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่สอง แต่เหตุการณ์อุทกภัยครั้งร้ายแรงในปี 1953 ที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 2,500 ราย และทำลายพื้นที่เกษตรกรรม 9% ของประเทศ ทำให้รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ตัดสินใจเดินหน้าโครงการวิศวกรรมขนาดใหญ่โครงการนี้ เพื่อป้องกันน้ำท่วมในอนาคต

    แผนที่แสดงเขื่อนต่างๆ ในโครงการ Delta Works (ภาพจาก Wikipedia)
    โครงการ Delta Works จะสร้างเขื่อน-คันดิน-ประตูกั้นน้ำจำนวนทั้งสิ้น 16 เขื่อน เขื่อนแรกสร้างเสร็จในปี 1950 แต่ก็ต้องรอเวลาอีกกว่า 50 ปีกว่าโครงการทั้งหมดจะเสร็จสิ้น โดยกำแพงกั้นคลื่นแห่งสุดท้ายสร้างเสร็จในปี 1997 และเปิดใช้งานจริงเมื่อปี 2010 นี้เอง
    ประเด็นที่น่าสนใจคือการประเมินความคุ้มค่าของโครงการ โดยใช้โมเดลทางเศรษฐศาสตร์เพื่อประเมินความเสียหายของชีวิตและทรัพย์สิน ในกรณีที่พื้นที่แต่ละจุดเกิดน้ำท่วม แล้วคำนวณเทียบกับค่าก่อสร้างที่ต้องใช้
    ในอดีตเนเธอร์แลนด์เคยประสบปัญหา “เขื่อนแตก” เนื่องจากคลื่นลมรุนแรงมาแล้วหลายครั้ง การสร้าง Delta Works จึงต้องพิจารณาเรื่องความเสี่ยงที่เขื่อนจะพังด้วย โดยทางการดัทช์ได้กำหนดว่าโอกาสที่เขื่อนจะแตกอยู่ระหว่าง 1 ครั้งในรอบ 10,000 ปีสำหรับพื้นที่บางส่วนของประเทศ ถือเป็นความเสี่ยงที่ยอมรับได้เมื่อเทียบกับงบประมาณที่ต้องใช้

    ภาพเขื่อนกั้นพายุ Eastern Scheldt Storm Surge Barrier (จาก Wikipedia)
    ทั้งสองโครงการคือ Zuiderzee Works ทางเหนือ และ Delta Works ทางภาคใต้ ได้รับการยกย่องจากสมาคมวิศวกรโยธาแห่งอเมริกา (American Society of Civil Engineers) ให้เป็น 1 ใน 7 “สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่” ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าทางวิศวกรรมของโลก ที่ช่วยป้องกันประชาชนจำนวนมากจากภัยธรรมชาติ
    ถึงแม้โครงการทั้งสองจะสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว แต่ใช่ว่าชาวดัทช์จะปลอดภัยจากอุทกภัย 100% เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น (ตัวเลขประเมินคือเพิ่มอีก 65-130 ซม. ในปี 2100) ตอนนี้เนเธอร์แลนด์ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อหาแนวทางที่เป็นไปได้ในการแก้ปัญหาแล้ว
    โครงการวิศวกรรมทั้งสองไม่ได้มีแต่ข้อดีเพียงอย่างเดียว การเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมชาติย่อมก่อให้เกิดผลกระทบทางนิเวศวิทยาไม่น้อย เมืองบางแห่งที่เคยอยู่ติดชายฝั่งทะเลสาบ Zuiderzee กลับกลายเป็นเมืองบนบกแทน สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรก็ต้องเปลี่ยนไป แต่ในสายตาของชาวดัทช์แล้ว การป้องกันภัยธรรมชาติอาจเป็นเรื่องสำคัญกว่า และต้องยอมแลกกับทรัพยากรธรรมชาติบางส่วน
    นอกจากนี้ ในสายตาของชาวโลกแล้ว Zuiderzee Works และ Delta Works ยังแสดงให้เห็นว่าการแก้ปัญหาเชิงวิศวกรรมขนาดใหญ่เพื่อปกป้องคนในประเทศนั้นทำได้จริง เพียงแต่ต้องอาศัยเวลา งบประมาณ และความร่วมมือของคนในชาติอย่างมาก จึงจะทำได้สำเร็จ

    0 ความคิดเห็น:

    แสดงความคิดเห็น

     

    Blogger news

    About

    Blogroll